เชื่อว่าหลาย ๆ คน ไม่ว่าจะอยู่ในวัยเรียน วัยทำงาน จนถึงวัยสูงอายุ ต้องเคยพบเจอกับ อาการปวดหลัง ที่มีสาเหตุมาจากกิจกรรมที่ทำอยู่ทุกวัน ซึ่งกิจกรรมเหล่านั้นจะส่งผลให้เกิดปัญหากับกล้ามเนื้อ ข้อต่อ ไปจนถึงหมอนรองกระดูกได้ และ อาการปวดหลัง ที่แสดงออกมาก็นับว่าเป็นสัญญาณเตือนจากร่างกายที่เราไม่ควรมองข้าม
สาเหตุของอาการปวดหลัง
ท่าทาง การเคลื่อนไหวร่างกาย ที่ไม่ถูกต้อง
มักเป็นหนึ่งสาเหตุที่พบได้บ่อยในคนวัยเรียน หรือวัยทำงาน ที่ต้องนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ด้วยท่าทางเดิม เป็นเวลานาน จนทำให้เผลอนั่งในท่าห่อไหล่ งอหลัง ก้มคอ เกิดเป็นอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อบริเวณ คอ บ่า ไหล่ และหลังตามมา ที่เราคุ้นเคยกันในชื่อ ออฟฟิศซินโดรม
การยกของหนัก และการยกของในท่าที่ไม่เหมาะสม
สามารถทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ เพราะคนส่วนใหญ่ เมื่อจำเป็นที่ต้องยกของ หรือก้มเก็บของ มักจะใช้วิธีการก้มหรือโน้มตัวลงเพื่อยกวัตถุขึ้นมา ซึ่งเป็นท่าที่ส่งผลเสียต่อกระดูกสันหลัง หรือหากเป็นของที่หนักมาก ๆ แรงกดของน้ำหนักวัตถุก็จะส่งผลต่อหมอนรองกระดูกอีกด้วย
ที่นอนแข็งหรือนุ่มเกินไป
โดยหากที่นอนแข็งเกินไป จะทำให้น้ำหนักตัวของผู้นอนกดทับเฉพาะจุด ส่งผลให้เกิดอาการปวดหลังได้ และหากที่นอนนุ่มเกินไป ขณะนอนจะเกิดการยุบตัว บริเวณสะโพกและก้นจะจมลงไป ส่งผลให้หลังส่วนล่างแอ่น ทำให้ปวดหลังได้เช่นกัน
เกิดจากในขณะที่นอนหลับ มีการดิ้น ละเมอ พลิกตัวไปมา จนทำให้ท่าทางการนอนอยู่ในลักษณะที่ไม่ถูกต้องตามที่สรีระร่างกายควรจะเป็น เช่น การนอนตกหมอน ลำคอกับร่างกายหันไปคนละทิศทาง การนอนทับแขน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอาการปวดหลัง ปวดเมื่อยตามร่างกาย กล้ามเนื้อ และยังเป็นสาเหตุของการเกิดโรคอื่น ๆ ตามมาอีกด้วย
การได้รับอุบัติเหตุบริเวณหลัง
หากเป็นอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรงมาก เช่น ลื่นล้ม บาดเจ็บจากการเล่นกีฬา อาการปวดหลัง จากอุบัติเหตุเหล่านี้มักเกิดจากการฉีกขาดของกล้ามเนื้อ หรือหมอนรองกระดูก แต่หากเป็นอุบัติเหตุรุนแรงที่เกิดการกระแทกกระทบต่อกระดูกสันหลังโดยตรง อาจส่งผลให้กระดูกสันหลังหักหรือเคลื่อนได้ และหากกระดูกเกิดไปกดทับเส้นประสาทก็อาจทำให้เกิดอาการชาและอ่อนแรงร่วมด้วย
อาการปวดหลังแต่ละส่วน
- ปวดหลังส่วนบน : มักมีสาเหตุมาจากการก้มเล่นมือถือนาน ๆ หรือการสะพายกระเป๋าหนัก ๆ ส่งผลให้กล้ามเนื้อทำงานหนักขึ้นเพราะต้องเกร็งบริเวณคอ บ่า ไหล่ อยู่ตลอดเวลา และอาจทำให้เกิดอาการไหล่เอียงโดยไม่รู้ตัว
- ปวดหลังส่วนกลาง : มักเกิดจากการก้มยกของหนัก หรือการนอนบนที่นอนที่นุ่มหรือแข็งจนเกินไป จนทำให้เกิดแรงกดทับจากน้ำหนักตัวเฉพาะจุด
- ปวดหลังส่วนล่าง : มักเกิดจากการที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไป หรือจากการยืนหรือนั่งเป็นเวลานาน
อาการปวดหลัง สัญญาณบ่งบอกอะไร ?
ปวดหลังหลังจากการยกของหนัก – สัญญาณกล้ามเนื้ออักเสบ
เป็นไปได้ว่าอาการปวดหลังที่เกิดขึ้น มาจากกล้ามเนื้ออักเสบ จึงไม่ควรยกของที่มีน้ำหนักมากจนเกินไป และควรหยุดพักการใช้งานกล้ามเนื้อบริเวณที่รู้สึกเจ็บปวด
ปวดหลังแบบกว้าง ๆ บริเวณทั่วแผ่นหลัง – สัญญาณโรคกล้ามเนื้อหลังอักเสบเฉียบพลัน
เป็นโรคที่เกี่ยวกับกล้ามเนื้อหลังโดยตรง เกิดจากการที่กล้ามเนื้อหลังถูกใช้งานมากเกินไป การเล่นกีฬาอย่างหนักจนส่งผลกระทบต่อกล้ามเนื้อ หรือการเกิดอุบัติเหตุกับหลัง ทำให้กล้ามเนื้อหลังเกิดการอักเสบเฉียบพลัน อาการที่แสดงจะเป็นการปวดเกร็งที่หลัง ปวดตึง จนต้องแอ่นหลังตลอดเวลา เกิดอาการปวดหลังเป็นวงกว้าง ไม่สามารถระบุตำแหน่งได้ชัดเจน
ปวดหลังร้าวลงขา – สัญญาณโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
สาเหตุมาจากการนั่งทำงานอยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานานโดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ หรือการก้ม ๆ เงย ๆ ยกของหนักเป็นประจำ ส่งผลให้เกิดอาการปวดหลังรุนแรง อาการปวดร้าวลงไปที่ขา มีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อาการชา อ่อนแรง เป็นต้น
ปวดหลังขัดภายในข้อ ปวดลึก – สัญญาณโรคกระดูกสันหลังเสื่อม
มักพบบ่อยในผู้สูงอายุ เกิดจากการที่กระดูกสันหลังเกิดการทรุดตัว ข้อต่อที่ทำหน้าที่เชื่อมกระดูกเกิดการเคลื่อนไหว เสื่อมลง ระยะแรกจะไม่ค่อยแสดงอาการ หากนานไปจะส่งผลให้เกิดอาการปวดหลัง หากกดลงไปที่ข้อกระดูกสันหลังจะรู้สึกปวดลึก ปวดเสียว และรู้สึกขัดภายในข้อ
ปวดหลังส่วนกลาง ร้าวลงสะโพก ต้นขา – สัญญาณโรคกระดูกสันหลังเคลื่อน
มักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี เป็นภาวะการเคลื่อนของกระดูกสันหลังไปด้านหน้ามากกว่าปกติ ซึ่งเกิดจากการที่ข้อต่อกระดูกสันหลังเสื่อม อันเนื่องมาจากการทำงานในท่าก้มหรือเงยเป็นประจำ การตั้งครรภ์ ภาวะน้ำหนักตัวเกิน หรือการเกิดอุบัติเหตุที่มีการกระแทกบริเวณกระดูกสันหลังโดยตรง จะมีอาการปวดหลังส่วนล่าง และปวดมากขึ้นเมื่อยืนหรือเดิน มีอาการปวดร้าวลงสะโพก ต้นขา
เราสามารถป้องกันอาการปวดหลังที่อาจเกิดขึ้นได้ หรือหากเกิดขึ้นแล้ว ก็สามารถหาทางบรรเทาไม่ให้อาการรุนแรงจนเกิดเป็นโรคตามมา เริ่มที่ตัวเองได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำแล้วส่งผลอันตรายต่อหลัง เช่น ยกของหนัก นั่งอยู่ในท่าเดิม ๆ เป็นเวลานาน นั่งในท่าที่ไม่ถูกต้อง หลังงอ ไหล่ห่อ เป็นต้น รวมถึงการดูแลตัวเอง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
การสร้างสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้เหมาะสมสำหรับการทำกิจกรรม เช่น หาเก้าอี้ที่ซัพพอร์ตสรีระร่างกายขณะที่ต้องนั่งทำงานเป็นเวลานาน หาหมอน ที่นอน ที่เหมาะสม และรองรับสรีระร่างกายขณะนอน และนอกจากนี้การเข้าสู่กระบวนการรักษาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างทันท่วงที ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยป้องกันการปวดหลังที่จะนำไปสู่การเกิดโรคร้ายแรงตามมา
สินค้าแนะนำ :
Add Friend LINE OA : Bedisupreme